กรณีการ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต (ประกันคีย์แมน) ตามหลักสรรพากรมีแนวทางอย่างไรบ้าง 

กรณีการ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต (ประกันคีย์แมน) ตามหลักสรรพากรมีแนวทางอย่างไรบ้าง 

การทำประกันภัยบุคคลสำคัญ เป็นสัญญาประกันชีวิตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบริษัทในฐานะนายจ้างของบุคคลสำคัญได้ทำประกันชีวิตให้แก่บุคคลสำคัญตามมติที่ประชุมของบริษัท เพื่อป้องกันความเสียหายจากการสูญเสียบุคคลสำคัญ ดังนั้นในฐานะนายจ้างจึงต้องทำประกันชีวิต หรือประกันคีย์แมนให้กับบุคคลสำคัญเหล่านี้ 

โดยการ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต (ประกันคีย์แมน) ให้กับผู้รับประกัน ตามหลักของกรมสรรพากร สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ไปศึกษากรณีตัวอย่างที่กรมสรรพากรได้วินิจฉัยไว้ดังนี้  

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท จ่ายเบี้ยประกันชีวิต ให้กรรมการผู้จัดการ

เลขที่หนังสือ : กค 0811/408 วันที่ : 21 มกราคม 2543 

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท จ่ายเบี้ยประกันชีวิต ให้กรรมการผู้จัดการ 

ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (13), มาตรา 65 ตรี (3), (6), (13) 

ข้อหารือ บริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต ให้กรรมการผู้จัดการ ตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ เพื่อเป็นสวัสดิการ และการตอบแทนคุณความดีที่บริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จด้วยดีตลอดมา 

จึงหารือว่า 1.เบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมนี้ หักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่ 

มีข้อจำกัดอย่างไร 

2.เบี้ยประกันชีวิตนี้จะถือเป็นรายได้พึงประเมินนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรรมการผู้จัดการหรือไม่ มีข้อจำกัดอย่างไร 

3.กรณีที่บริษัทฯ จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดแทนกรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมและ เจตนารมณ์ของบริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร 

4.เงินสินไหมทดแทนกรณีการสูญเสียชีวิตของกรรมการผู้จัดการ ที่บริษัทฯ ยกให้แก่ครอบครัวหรือทายาท มีภาระภาษีใดมาเกี่ยวข้องบ้าง 

5.บริษัทฯ จะบันทึกบัญชีอย่างไร กรณีต่อไปนี้ (1) บริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต แทนกรรมการผู้จัดการให้บริษัทประกันฯ (2) บริษัทฯ รับเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีการสูญเสียชีวิตจากบริษัทประกัน (3) บริษัทฯ ยกผลประโยชน์จากเงินสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวหรือทายาทของกรรมการผู้จัดการ กรณีเสียชีวิต 

แนววินิจฉัย

1.เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทฯ จ่ายให้กรรมการผู้จัดการตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ หากเป็นกรณีที่ บริษัทฯ ต้องจ่ายให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้อง ห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อความสะดวกในการแสดงหลักฐาน ให้บริษัทประกันภัยหมายเหตุไว้ในใบเสร็จรับเงินให้มีข้อความว่าเบี้ยประกันชีวิตที่รับนี้ จ่ายโดยบริษัท…

2.เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินค่าภาษีอากรที่บริษัทฯ ออกให้ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทฯ ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง พนักงานจะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

3.เงินค่าภาษีอากรที่บริษัทฯ ออกให้ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

3.ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือเงินได้จากการประกันภัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร

4.การบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป 

เลขตู้ : 63/28838 (ข้อมูลจาก https://www.rd.go.th/272.html)

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท จ่ายเบี้ยประกันชีวิต แทนกรรมการ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/4227 วันที่ : 30 เมษายน 2547 

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการ 

ข้อกฎหมาย : มาตรา 42(13), มาตรา 65 ตรี (3), มาตรา 65 ตรี (13)

ข้อหารือ บริษัท ม. หารือว่า กรณีที่สำนักงานสรรพากรภาคได้มีหนังสือตอบข้อหารือกรณีเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัท จ่ายแทนกรรมการตามมติที่ประชุมของบริษัทว่า หากผู้รับประโยชน์คือบริษัท เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายแทน กรรมการผู้เอาประกันไม่ถือเป็นเงินได้ของกรรมการ แต่หากผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์เป็นครอบครัวหรือญาติพี่น้องของกรรมการ เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายแทนถือเป็นเงินได้พึงประเมินของกรรมการ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ของกรรมการ ประเด็นดังกล่าวตัวแทนประกันชีวิตเห็นว่า

1.เบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการบริษัทตามมติที่ประชุมของบริษัทถือว่าเป็นระเบียบวางไว้ให้ จ่ายได้ เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทซึ่งถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และหากผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์คือบริษัท เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการผู้เอาประกันไม่ถือเป็นเงินได้ของกรรมการ

2.ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ทุก 5 ปีหรือทุกปี ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะผลประโยชน์มิใช่สินไหมเสียชีวิตหรือครบกำหนดอายุกรมธรรม์ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายให้แก่ผู้ เอาประกันเท่านั้น ไม่จ่ายให้แก่บริษัทซึ่งเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตและเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ ย่อมถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42(13) ที่กล่าวถึงข้างต้นบริษัทฯ หารือว่าความเห็นของตัวแทนประกันชีวิตในกรณีดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ 

แนววินิจฉัย

1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการบริษัทตามมติที่ประชุมของบริษัท หากเป็นกรณีที่บริษัทต้องจ่ายให้กรรมการทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทแล้ว บริษัทมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์คือบริษัท เงินค่า เบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการก็ต้องถือเป็นประโยชน์เพิ่มของกรรมการ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2.ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ 5 ปี หรือทุกปีให้แก่ผู้เอาประกันภัยถือเป็น เงินที่ได้จากการประกันภัย ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร 

เลขตู้ : 67/32909 (ข้อมูลจาก https://www.rd.go.th/272.html)

 

ดังนั้นกรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต (ประกันคีย์แมน) เจ้าของกิจการควรศึกษาข้อมูลจากกรมสรรพากรดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และหากไม่มั่นใจเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยประกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาษีอากรอะไรบ้าง แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและภาษี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

Facebook
Email
Print
อ่านเพิ่มเติม