ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มีกี่แบบ พร้อมขั้นตอนการลงทะเบียน  

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มีกี่แบบ พร้อมขั้นตอนการลงทะเบียน  

ในทุกวันนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่ต้องต่อสู้กับการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกเอกสารใบกำกับภาษี และกว่าจะทำการจัดส่งให้กรมสรรพากรก็ยุ่งยากไม่ใช่น้อย บางครั้งก็ทำเอกสารสูญหายไปยังไม่ทันได้ยื่นสรรพากรจนถึงขั้นต้องเสียค่าปรับเสียดอกเบี้ยอีก  

แต่ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อกรมสรรพากรมีการพัฒนาระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูล ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นตามโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แผนโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษา ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment โดยมีการเชื่อมโยงระบบการชำระภาษีเข้ากับระบบการชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความสะดวก รวดเร็ว ป้องกันการสูญหายได้ 

โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามาถขอลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ e-Tax Invoice ได้ 2 แบบ คือ

1.ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

2.ระบบ e-Tax Invoice by Email

ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 2 ระบบ จะมีความแตกต่างกันตามขนาดธุรกิจของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเลือกจดได้เพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

 

1.ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับมีการลงลายมือชื่อดิจิตัล (Digital Signature) ที่มีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานสากล และนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt จะเป็นมาตรฐานที่มีผลทางกฎหมาย โดยจะต้องระบุหมายเลขใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และลายมือชื่อดิจิทัลเป็นเครื่องยืนยันตัวตนของผู้ออกใบกำกับภาษี และรับรองถึงความถูกต้องของข้อมูล

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

1.เข้าเว็บไซต์เพื่อยื่นคำขอที่กรมสรรพากร

2.ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer Free และติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์

3.เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token หรือ HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์

4.กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และตรวจสอบข้อมูล

5.ลงลายมือชื่อใน บ.อ.01 และข้อตกลง จากนั้นตรวจสอบอีเมล และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน

6.ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ บ.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

 

2.ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice by Email 

e-Tax Invoice by Email เป็นระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอีเมล ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และออกใบกํากับภาษีจำนวนไม่มาก ไม่มีการบริหารจัดการด้านเอกสารที่เป็นระบบขนาดใหญ่ รวมถึงอาจยังไม่พร้อมที่จะออกใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบสมบูรณ์ตามที่กรมสรรพากรกำหนดผ่านระบบกลางของ สพธอ.ได้ 

โดยขั้นตอนในการจัดทำไม่ยากและไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอีเมล โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งไฟล์ข้อมูลให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า เพื่อจัดเก็บหรือใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมต่อไป

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice by Email) 

1.เข้าเว็บไซต์เพื่อยื่นคำขอที่กรมสรรพากร

2.กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูลพิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม

3.สแกน ก.อ.01 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่ออัปโหลดเอกสาร

4.กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)

5.ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ

6.แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษี และใบรับ

7.ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

เอกสารที่ต้องใช้

1.แบบ ก.อ.01 โดยให้ผู้มีอำนาจลงนามลงลายมือชื่อ พร้อมตราประทับ

2.เตรียมหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน พร้อมลายเซ็นและตราประทับ

3.สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามที่ลงลายมือชื่อในแบบ ก.อ.01 ที่มีการลงนามรับรองเอกสารถูกต้อง 

 

ความแตกต่างระหว่าง e-Tax Invoice & e-Receipt กับ e-Tax Invoice by Email 

e-Tax Invoice & e-Receipt e-Tax Invoice by Email
มีการออกใบกำกับภาษีจำนวนมาก มีการออกใบกำกับภาษีน้อย
ERP, Software House, ระบบบัญชีขนาดใหญ่ ระบบบัญชีขนาดเล็ก
ใบกำกับภาษี, ใบเพิ่มหนี้, ใบลดหนี้, ใบรับ ใบกำกับภาษี, ใบเพิ่มหนี้, ใบลดหนี้, ใบรับ
สมัครผ่านระบบด้วย CA (Certificate Authority)
โดยไม่ต้องนำส่งเอกสาร และได้รับอนุมัติทันที
สมัครผ่านระบบ โดยต้องนำส่งเอกสารและรอรับ
การอนุมัติจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่
จัดทำเอกสารในรูปแบบใดก็ได้ เช่น PDF, PDF/A-3 หรือ XML จัดทำเอกสารรูปแบบ PDF/A-3 โดยมีข้อมูล XML ตามรูปแบบที่กำหนด
รับรองเอกสารโดยใช้ CA (Certificate Authority) และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) รับรองเอกสาร โดยการประทับรับรองเวลา
(Time Stamp) จาก ETDA
ตามวิธีที่ตกลงกัน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผ่าน E-mail
นำส่งผ่าน 3 ช่องทาง

1.Web Upload

2.Host to Host

3.Service Provider

ระบบส่งข้อมูลให้ กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ

 

ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถเลือกให้เหมาะกับขนาดธุรกิจของตนเองได้ เช่น หากเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มีเอกสารเป็นจำนวนมาก แนะนำให้เลือกใช้แบบ e-Tax Invoice & e-Receipt แต่ถ้าธุรกิจมีขนาดเล็ก มีเอกสารไม่มาก แนะนำให้เลือกแบบ e-Tax Invoice by Email จะดีกว่า ซึ่งข้อดีของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสาร ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสารได้อีกด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์นักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญก็สามารถแนะนำวิธีการทำพร้อมให้คำปรึกษาได้เช่นกัน 

Facebook
Email
Print
อ่านเพิ่มเติม