เปิดบริษัท โฮลดิ้ง ได้ยกเว้นภาษีจริงหรือไม่

เปิดบริษัท โฮลดิ้ง ได้ยกเว้นภาษีจริงหรือไม่

เชื่อว่านักธุรกิจต้องรู้จักกันดีอยู่แล้วสำหรับเรื่อง โฮลดิ้ง คอมพานี เนื่องจากการเปิดบริษัท โฮลดิ้ง ไม่ต้องใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหรือแรงงาน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ไม่มีแรงงานหรือทรัพยากรที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้ในการขยายกิจการ ก็อาจต้องทำการเปิด โฮลดิ้ง คอมพานีขึ้นมา     

ดังนั้น วันนี้เราไปทำความรู้จักกับ โฮลดิ้ง คอมพานี ว่าคืออะไรกันแน่ มีวิธีการและข้อกำหนดอย่างไรบ้างในการเปิดบริษัทโฮลดิ้ง โดยเฉพาะใครที่เหมาะเปิดบริษัทโฮลดิ้งกันแน่! ไปติดตามพร้อมกัน  

 

บริษัท โฮลดิ้ง คืออะไร 

บริษัท โฮลดิ้ง (Holding Company) คือบริษัทประกอบธุรกิจที่มีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก โดยจะไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจแบบทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่น หรือบริษัทลูกเพื่อรอรับเงินปันผลจากกิจการเหล่านี้ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในบริษัทในประเทศหรือบริษัทในต่างประเทศ โดยต้องไม่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน    

บริษัทโฮลดิ้งจะถือหุ้นหรือหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือมากกว่า 50% ของบริษัทอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมมากกว่าเพื่อการลงทุน จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมดูแลบริษัทอื่น ซึ่งถือเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแท้จริง แต่ถ้าเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นแบบผสม คือบริษัทที่มีการทำธุรกิจของตนเองพร้อมกับดูแลบริษัทอื่นด้วย  

โดยส่วนใหญ่บริษัทโฮลดิ้ง จะจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในธุรกิจของครอบครัวในการวางแผนบริหารธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สินรวมของสมาชิกครอบครัว โดยแบ่งธุรกิจแต่ละหน่วยให้กับลูกหลานบริหาร เพื่อไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกันในที่เดียว ซึ่งจะป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นของคนในครอบครัวได้ และเมื่อบริษัทลูกมีผลกำไรก็ส่งเข้าบริษัท โฮลดิ้ง เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมเงินกองกลางของครอบครัว    

  ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในลักษณะที่หลากหลาย เช่น หุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการปัจจุบัน หลักทรัพย์ อย่างเช่น หุ้นกู้ กองทุน ตราสารทางการเงินต่างๆ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ   

 

เปิดบริษัทโฮลดิ้ง ได้ยกเว้นภาษีอะไรบ้าง

ตามหลักการของการประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น จะต้องมีภาระภาษีโฮลดิ้งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างเช่น…  

1.บริษัทโฮลดิ้ง ครอบครัว (Family Holding Co) 

บริษัทโฮลดิ้ง ครอบครัว (Family Holding Co) เพื่อถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ จะทำให้สามารถนำเงินออกในรูปแบบของเงินปันผลมาเก็บไว้ที่บริษัทโฮลดิ้งได้ ซึ่งจะได้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% (ศึกษาภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติมได้จากบทความ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ”) โดยถือว่าเป็นการชะลอการจ่ายภาษีก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่มียอดขายต่อปีสูง และได้รับยกเว้นเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในเครือ โดยการยกเว้นภาษีของบริษัทโฮลดิ้ง จะต้องตรงตามเงื่อนไขดังนี้   

1) บริษัทโฮลดิ้งต้องถือหุ้นในบริษัทลูกมากกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง จึงจะได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย

2) บริษัทโฮลดิ้งต้องถือหุ้นก่อนวันที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องถือต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากมีสิทธิได้รับเงินปันผล

3) บริษัทลูก ต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง คือไม่ถือหุ้นไขว้กัน

ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทโฮลดิ้ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวมานี้ เงินปันผลจะได้รับการยกเว้นภาษีครึ่งหนึ่งแทน นอกจากนี้ หากบริษัทโฮลดิ้งนำเงินที่ได้มาปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูก จะได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับ (3.3%) แต่ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

1) ถือหุ้นบริษัทผู้กู้ยืมเงินไม่น้อยกว่า 25% (Shareholding Test)

2) ถือหุ้นบริษัทผู้กู้ยืมเงินไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนการให้กู้ยืมเงิน (Time Test)

2.บริษัทโฮลดิ้ง ถือครองที่ดิน (Property Holding Co)

บริษัทโฮลดิ้งถือครองที่ดิน ใช้สำหรับการถือครองที่ดินเพื่อการลงทุนในระยะยาว  โดยมีจุดประสงค์หลักคือการให้เช่า และอาจขายเพื่อทำกำไรได้ในอนาคต ซึ่งค่าเช่าจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% และภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% อากรแสตมป์ 0.1% แต่ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากมีการขายที่ดิน จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% และภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

 

สรุป 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าบริษัทโฮลดิ้งมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นได้รับยกเว้นรายได้ในการคำนวณภาษี ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีซ้ำซ้อน ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และยังช่วยชะลอการเสียภาษีได้ อีกทั้งยังช่วยให้การบริหารจัดการพัฒนาสินทรัพย์อย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ ลดความขัดแย้งภายในครอบครัว และง่ายต่อการจัดการธุรกิจ 

ดังนั้น หากกิจการที่กำลังเติบโตและมีความต้องการจำกัดความเสี่ยงของการประกอบกิจการ มีอสังหาริมทรัพย์ที่มูลค่าสูง รวมถึงเป็นธุรกิจของครอบครัวขนาดใหญ่ มีทายาทธุรกิจหลายคน อาจจำเป็นต้องเปิดบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคตได้ 

แต่ก่อนที่จะตัดสินใจจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีโฮลดิ้งเสียก่อน เนื่องจากยังมีภาษีโฮลดิ้งที่เกี่ยวข้องอยู่อีกหลายประเด็นและค่อนข้างมีความซับซ้อน มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นรายธุรกิจไป เพื่อให้การกำหนดเส้นทางการขยายกิจการของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Facebook
Email
Print
อ่านเพิ่มเติม