รายงานภาษีซื้อภาษีขาย จำเป็นต้องทำหรือไม่

รายงานภาษีซื้อภาษีขาย จำเป็นต้องทำหรือไม่

เมื่อกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) จะต้องแนบเอกสารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วยรายงานภาษีซื้อภาษีขาย ซึ่งหากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ กิจการจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้วิธีการทำรายงานภาษีซื้อภาษีขาย คือ ให้เริ่มต้นด้วยการรวบรวมและเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบกำกับภาษีซื้อตัวจริง และสำเนาใบกำกับภาษีขาย ในแต่ละเดือน จากนั้นนำมาทำรายงานภาษีซื้อภาษีขาย และส่งพร้อมกับเอกสาร รวมถึงแบบฟอร์ม ภ.พ.30 ซึ่งต้องส่งถึงสำนักงานสรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

ความหมายของรายงานภาษีซื้อภาษีขาย

รายงานภาษีซื้อภาษีขาย คือ เอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นๆ รายงานนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการส่งพร้อมกับเอกสาร ภ.พ.30 ซึ่งผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการเก็บเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ และการออกใบกำกับภาษีอาจยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายโดยละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งสามารถอธิบายแยกย่อยลงไปอีกดังต่อไปนี้

1.รายงานภาษีซื้อ เป็นเอกสารที่สร้างขึ้นเพื่อบันทึกรายการซื้อสินค้าหรือบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากผู้ขายที่จดทะเบียน ในรายงานจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีที่เสีย โดยทางรายงานภาษีซื้อจะต้องประกอบไปด้วยรายการและข้อความตามแบบฟอร์มที่สำนักงานกรมสรรพากรกำหนด

  1. รายงานภาษีขาย เป็นรายงานที่กิจการทำขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดของรายการภาษีขาย ซึ่งแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมไว้ โดยผู้ประกอบกิจการจะต้องทำการจดทะเบียนและได้รับใบกำกับภาษีจากการขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งรายงานภาษีขายจะต้องมีรายการและข้อความตามแบบฟอร์มที่กำหนดโดยกรมสรรพากร

ข้อมูลที่ลงใน รายงานภาษีซื้อภาษีขาย

การลงบันทึกรายงานภาษีซื้อภาษีขาย ที่ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ จะต้องมาจากใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยการลงรายละเอียดในรายงานภาษีซื้อภาษีขายต้องเป็นภาษีซื้อและภาษีขายที่เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้ 

  1.รายงานภาษีซื้อ จะสามารถลงรายงานภาษีซื้อได้เฉพาะรายการซื้อที่มีหลักฐานใบกำกับภาษี หรือใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ หรือใบเสร็จรับเงินอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งลงรายการเพิ่มและลดยอดภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากลงรายการเพิ่มภาษีซื้อที่เกิดขึ้น เช่น การซื้อหรือการนำเข้าซึ่งสินค้าหรือวัตถุดิบ การซื้อ หรือเช่าซื้อ หรือนำเข้าซึ่งทรัพย์สิน การรับฝากขายสินค้า การรับบริการหรือการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ การเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการ เป็นต้น

  2.รายการภาษีขาย จะต้องนำไปลงรายงานภาษีขายในเดือนที่มีรายการเกิดขึ้น เพิ่มสูงหรือลดลงที่เกิดขึ้น เช่น การขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศไทย (กรณีการส่งออกภาษีขาย = 0) การให้เช่าซื้อ การส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย (ฝากขาย) การนำสินค้าหรือบริการไปใช้เพื่อการอื่นใด ที่ไม่ใช่เพื่อการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หนี้สูญที่ได้รับคืน มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และทรัพย์สินของผู้ประกอบการที่ได้ควบรวมเข้าด้วยกัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน เป็นต้น

หรือการลงรายการลดภาษีขายเกิดขึ้น เช่น การรับคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่างหรือที่เสนอขาย การลดราคาสินค้าหรือค่าบริการซึ่งผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน หนี้สูญที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เป็นต้น

รายละเอียดรายงานภาษีซื้อภาษีขาย

รายละเอียดการทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายที่สรรพากรกำหนด ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.รายงานภาษีซื้อ จำเป็นต้องมีรายละเอียดในรายงาน คือ รายละเอียดของใบกำกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น ได้แก่ วัน-เดือน-ปี เลขที่ใบกำกับภาษี ชื่อผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ สำนักงานใหญ่/สาขาของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีซื้อ เดือนภาษีและปีภาษี ชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 

2.รายงานภาษีขาย จำเป็นต้องมีรายละเอียดในรายงาน คือ ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีขาย เดือนภาษีและปีภาษี ชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ยื่นรายงานภาษีขาย 

ซึ่งรายละเอียดของใบกำกับภาษีขายที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น ประกอบด้วย วัน-เดือน-ปี เลขที่ใบกำกับภาษี ชื่อผู้ซื้อสินค้า/ผู้รับบริการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้า/ ผู้รับบริการ สำนักงานใหญ่/ สาขาของผู้ขายสินค้าหรือผู้รับบริการ มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 

และเมื่อครบกำหนดที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กิจการรวบรวมรายงานภาษีซื้อภาษีขาย พร้อมใบกำกับภาษีทั้งในส่วนของภาษีซื้อและภาษีขายแยกไว้เป็น 2 ส่วน จากนั้นสามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมแนบรายงานภาษีซื้อภาษีขายเองได้

ดังนั้นถ้าหากเจ้าของกิจการไม่แน่ใจว่ามีภาษีซื้อภาษีขายแบบไหนใช้ได้บ้าง อาจส่งให้สำนักงานบัญชีจัดการบัญชีให้ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพื่อยื่นแบบแสดงรายงานภาษีซื้อและภาษีขายเป็นไปอย่างถูกต้องที่สุด

 

Facebook
Email
Print
อ่านเพิ่มเติม